วันพุธที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2553

ประวัติอุบลราชธานี
เป็นเมืองใหญ่ริมฝั่งแม่น้ำมูล ที่มีประวัติความเป็นมากว่า 200 ปี เล่ากันว่า ท้าวคำผง ท้าวทิศพรหม และท้าวคำบุตร พระวอ พระตา หนีภัยสงครามจากพระเจ้าสิริบุญสาร เจ้าแห่งนคร เวียงจันทน์เจ้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารของพระเจ้าตากสินมหาราชและต่อมาได้สร้างเมืองขึ้นที่บริเวณดงอู่ผึ้ง ใกล้กับแม่น้ำมูล ครั้นพ.ศ. 2323 พระเจ้าตากสินมหาราชได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้พระยาราชสุภาวดี เชิญตราพระราชสีห์มาพระราชทานนามเมืองว่า “อุบลราชธานี” ทรงให้ท้าวคำผงเป็นเจ้าเมืองคนแรกซึ่งต่อมาได้พระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น “พระปทุมวงศา” เมืองอุบลราชธานีมีเจ้าเมืองสืบกันมาถึง 4 คน ตราบจนถึงปีพ.ศ. 2425 จึงได้มีการแต่งตั้งข้าหลวงและผู้ว่าราชการจังหวัดมาปกครองดูแลจนถึงทุกวันนี้
ดินแดนแถบนี้ มีชนชาติ ข่า ส่วย อพยพมาจากกรุงศรีสัตนาคนหุตเข้ามาอาศัยอยู่ ตั้งแต่ก่อนสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ครั้นในสมัยรัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ พระองค์ทรงคิดจะรวบรวมผู้คนที่แตกกระจัดกระจายจากภัยสงครามให้มาอยู่เป็นกลุ่มก้อน ดังนั้นถ้าใครสามารถรวบรวมผู้คนได้มากและอยู่กันอย่างมั่นคงก็จะได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าเมือง ด้วยเหตุนี้ในปี พ.ศ. 2329 ท้าวคำผง ซึ่งได้รวบรวมผู้คนอพยพมาตั้งหลักแหล่งทำกินอยู่ ณ บริเวณห้วยแจระแม อันเป็นที่ราบริมแม่น้ำมูล และต่อมาภายหลังมีความชอบจากการนำกำลังเข้าช่วยกองทัพไทยตีเมืองนครจำปาศักดิ์ จึงได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้ยกบ้านแจระแมเป็นเมืองอุบลราชธานี และแต่งตั้งให้ท้าวคำผงเป็นพระปทุมวรราชสุริยวงศ์เจ้าเมือง ภายหลังได้ย้ายเมืองมาตั้งใหม่ที่ "ดงอู่ผึ้ง" อันเป็นที่ตั้งจังหวัดในปัจจุบัน โดยมีเมืองเทียบเท่าชั้นจัตวาขึ้นอยู่รวม 7 เมือง
ในสมัยรัชกาลที่ 5 ก่อนจัดการปกครองแบบเทศาภิบาล เมืองอุบลราชธานีถูกรวมอยู่ในบริเวณหัวเมืองลาวกาว ต่อมาในปี พ.ศ. 2442 ได้เปลี่ยนชื่อเป็นมณฑลตะวันออกเฉียงเหนือ โดยมีเมืองอุบลราชธานีเป็นที่ตั้งมณฑล และเปลี่ยนชื่อใหม่อีกครั้งหนึ่ง ในปี พ.ศ. 2443 เป็นมณฑลอีสาน
ในปี พ.ศ. 2468 เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ จึงลดฐานะมณฑลอุบลราชธานีลงเป็นเพียงจังหวัดหนึ่งของมณฑลนครราชสีมา จนกระทั่งยุบเลิกมณฑลในปี พ.ศ. 2476 จึงกลายเป็นจังหวัดอุบลราชธานีตั้งแต่นั้นมา